ศิลปะสร้างค่า สู่สมดุลโลก

พบกับการจัดแสดงผลงานด้านศิลปะที่หลากหลาย
ทั้งงานจิตรกรรมประติมากรรม งานภาพถ่าย งานศิลปะและการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ทั้ง 2 และ 3 มิติ งานออกแบบการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ

 

TBA
โครงการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 หัวข้อ “รักโลก”
นิทรรศการสะท้อนมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวเสมือนจริง หรือศิลปะเชิงรูปลักษณ์ ในปี 2566 นี้ นับเป็นการประกวดครั้งที่ 12 โดยกำหนดหัวข้อ “รักโลก” อันหมายถึง ความรัก ความใส่ใจ และความรับผิดชอบในฐานะมนุษย์ที่เคารพนบน้อมต่อโลกของเรา เป็นความรักที่แสดงออกทั้งแง่มุมทางธรรมชาติและมิติทางสังคม เช่น การตระหนักรู้ว่าทุกกิจกรรมของมนุษย์สมัยใหม่นั้นสร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายกาจ การหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เพราะทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด รวมไปถึงการใส่ใจปัญหาสังคมในฐานะพลเมืองโลกที่หมายรวมถึงทุกเชื้อชาติและศาสนา

นอกจากนี้ รักโลก ยังสามารถตีความไปถึงการสร้างคุณประโยชน์ต่อโลก เช่น การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อสืบสานความงาม ยกระดับจิตใจของผู้คน เพื่อจรรโลงให้โลกนี้เต็มไปด้วยความงดงาม ประดับไว้ในโลกา โดยเปิดโอกาสให้ศิลปินนำแรงบันดาลใจจากแนวความคิดเกี่ยวกับความรักที่พึงมีต่อโลกอย่างยั่งยืน ไปสร้างสรรค์ผลงานตามความถนัดของตน ทั้งโลกที่หมายถึงโลกธรรมชาติทรัพยากร และโลกอันหมายถึงสังคมที่เราต่างอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจ และความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองโลกที่เชื้อชาติและศาสนาไม่อาจแบ่งแยกเราจากกัน
สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นิทรรศการภาพถ่าย ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ ถือเป็นสาขาของงานศิลปะที่สามารถผลักดันแนวคิดและแรงบันดาลใจในการรณรงค์ ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับโลกที่ดีขึ้นได้ ซึ่งจัดแสดงใน 3 โครงการ
  • โครงการประกวดภาพถ่าย ASEAN SX Photo Contest 2023 ส่งเสริมและกระตุ้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานด้านความยั่งยืนในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมา และ ไทย ภายใต้หัวข้อ “Good Balance, Better World” โดยมีกำหนดให้มีรางวัลชนะเลิศ (Country Winner) สำหรับแต่ละประเทศ และ คัดเลือกภาพที่ดีที่สุดจาก 10 Country winners เพื่อเป็นรางวัล Grand Prize สำหรับการประกวดในปีนั้นๆ
  • โครงการประกวดภาพถ่าย “ห้วงเวลาในธรรมชาติ” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นการสร้างจิตสำนึกในความรักและหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยใช้ความงดงามทางธรรมชาติของวนอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เป็นแรงบันดาลใจ หัวข้อการประกวดภาพถ่าย แบ่งป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ สภาพแวดล้อมธรรมชาติและพันธุ์พืช  และห้วงเวลาแห่งชีวิต 
  • โครงการประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ซีซั่น 1 ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมภาพถ่ายประเพณีและเทศกาลทั่วประเทศที่มีคุณภาพ สวยงาม เพื่อให้ร่วมภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่คุณค่าสาระความงดงามของประเพณีไทย สู่นานาชาติได้เป็นอย่างดียิ่งต่อไป
นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย
จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “10 ภาพเล่าเรื่อง” ในหัวข้อ “สายน้ำแห่งชีวิต Water of Life” จากโครงการประกวดภาพถ่ายสารคดี โดยเฟ้นหาสุดยอดภาพถ่ายที่สามารถถ่ายทอดมิติเชิงสารคดี ผ่านชุดภาพถ่าย10 ภาพ พร้อมแนวคิดและคำบรรยายภาพ ผลงานทั้ง 10 ชุดนี้ เปิดมุมมองหลากหลายเกี่ยวกับสายน้ำ ที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ ให้เราสัมผัสถึงความงาม ความขัดแย้ง เผยมุมที่เราอาจไม่เคยรับรู้ เข้าถึงมุมที่เราไม่เคยคิด และอาจบันดาลใจเราสู่การค้นหาคำตอบของคำถามที่เกี่ยวกับสายน้ำ
ห้องภาพฉายานิติกร
เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มาให้บริการ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเก็บภาพแห่งความประทับใจจากงาน ไว้เป็นที่ระลึก กับฉากสวยๆ ที่ออกแบบมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ รายได้จากการบริการจะนำไปมอบให้กับหน่วยงานเพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป
TRASH to TREASRE Art & Design Contest
จัดแสดงนิทรรศการจากการประกวดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์ สร้างค่า สร้างสมดุลโลก” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ในการนำสิ่งเหลือใช้ที่ทุกคนคิดว่าเป็นสิ่งไร้ค่า นำกลับมามีชีวิตใหม่ด้วยการสร้างสรรค์ให้มีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม โดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งต่อความคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมโลก
โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย
แสดงผลงานการออกแบบการแปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน นำโดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดโครงการ “Creative Young Designers” ร่วมกับภาคีเครือข่ายโครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa) เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา และมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าขาวม้าทอมือ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยตรงกับชุมชนผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ

รวมถึงมีวัฒนธรรมความเชื่อที่มาของลายผ้าขาวม้าทั้งอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ และยังเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดให้นักศึกษากับชุมชนได้เปิดมุมมอง เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้กับชุมชนผ้าขาวม้าทอมือที่เป็นเครือข่ายของบริษัท ประชารัฐฯ ได้เป็นที่รู้จักในสากลต่อไป