SX Talk Stage ภายใต้หัวข้อ Creating Sharing Value : การสร้างคุณค่าแบ่งปันจากการพัฒนาชุมชน ได้รับเกียรติจาก คุณณัฐวุฒิ ธรรมตานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน คุณคำรณ มะนาวหวาน กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด คุณทศวรรษ บุญมา ผู้จัดการประสานงานระหว่างชุมชน บริษัทบัดดี้โฮมแคร์ จำกัด มาร่วมแบ่งปันการทำงานที่ได้ช่วยสร้างคุณค่าและการแบ่งปันให้กับชุมชน การสร้างความเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของสังคมและชุมชน ซึ่งถือเป็นการสร้างความยั่งยืนด้วยการพัฒนาจากฐานราก ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังรวมถึงผู้ที่ต้องการมีส่วนขับเคลื่อนในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม ที่ปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีพลวัตมากขึ้น การทำงานร่วมกับชุมชนแบบเชื่อมโยงกันเป็นการสร้างคุณค่าร่วม
คุณณัฐวุฒิ ธรรมตานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญในสังคมไทยในการส่งเสริมผลักดันการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการในสังคม ได้กล่าวถึงวิธีการและรูปแบบการทำงานของธนาคารในการสนับสนุนชุมชนไว้ว่า ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม มีบทบาทภารกิจในทางธุรกิจ โดยดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ช่วยเหลือคนยากคนจน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ โดยมีการพัฒนาชุมชนในระดับตำบลทั่วประเทศในลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic area- based) ในจังหวัดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การจัดทำโครงการในจังหวัดน่านซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง โดยโครงการนี้มีแนวคิดสร้างคุณค่าร่วมในการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือที่เรียกว่าชุมชนสร้าง ออมสินเสริม ภาคีหนุน เติมสุขที่ยั่งยืน โดยธนาคารได้ทำงานร่วมกับสถานศึกษา หน่วยงานภาคีพันธมิตร และกลุ่มชุมชนในการสร้างงานสร้างอาชีพ เสริมสร้างความรู้ทางการเงิน ต่อยอดภูมิปัญญา ส่งเสริมช่องทางการตลาดเพื่อสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันออมสินทำงานร่วมกับ 3,600 ชุมชน และมีผู้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 410,000 ราย หรืออีกตัวอย่างหนึ่งของโครงการ คือโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นซึ่งร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่งทั่วประเทศ โดยธนาคารให้การสนับสนุนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อไปพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมเช่น การพัฒนาชุมชนที่เลี้ยงปลาดุก เพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาร้าและน้ำพริก และมีแนวคิดลดต้นทุนโดยนำเศษปลาที่เหลือทิ้งนำไปหมักเป็นแก๊สชีวภาพเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการทำน้ำพริกต่อไป นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของโครงการอื่น ๆ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน โดยให้นักเรียนนักศึกษาที่สังกัดวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ นำความรู้ทางด้านช่างไปสอนให้กับคนในชุมชนเพื่อให้สามารถซ่อมแซมได้ เป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาที่พักโฮมเสตย์ให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า คนตกงาน หรือนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในการฝึกอาชีพออนไลน์และในสถานที่ เป็นต้น ในด้านภาระงานหลักของธนาคารในการส่งเสริมให้ความรู้ทางการเงิน ทางธนาคารจัดให้มีการสอดแทรกความรู้ทางการออม การใช้สินเชื่อ การจัดทำบัญชีต้นทุนไว้ในโครงการต่าง ๆ ที่ได้จัดทำขึ้น รวมถึงมีสินเชื่อสำหรับผู้ค้ารายย่อยหรือวิสาหกิจชุมชนวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทตลอดจนสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อุทกภัย หรือปลดหนี้นอกระบบ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนในหลายมิติ
ความท้าทายในการทำงานกับชุมชน คุณณัฐวุฒิได้ระบุว่า ธนาคารทำงานโดยใช้รูปแบบของ csv (Creating shared value) ในการพัฒนาชุมชนหรือธุรกิจต่าง ๆ โดยจะพิจารณาจากปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นหลักและทำการพัฒนาแบบองค์รวมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างแต่จะเริ่มจากทีละชุมชนเล็ก ๆ ไปก่อนแล้วจึงขยายออกไป โดยโครงการควรจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งชุมชนและธนาคาร เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น
ในการทำงานด้านการเงินของธนาคารออมสินร่วมกับชุมชน ธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่องการเงิน โดยฝึกอบรมอาชีพ เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพื่อสร้างรายได้และสามารถนำไปปลดหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน
คุณณัฐวุฒิได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่เหมาะสมในการทำงานในโครงการต่าง ๆ ของธนาคารที่มุ่งสู่ความยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับชุมชน และดูแลสิ่งแวดล้อม จะต้องมีความต่อเนื่องและอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณทศวรรษ บุญมา ผู้จัดการประสานงานระหว่างชุมชน บริษัทบัดดี้โฮมแคร์ จำกัด ได้อธิบายเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทบัดดี้โฮมแคร์ว่าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และทำงานสนับสนุนกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เช่น เยาวชนที่อยู่บนดอย จะมีการจ้างงานเด็กกลุ่มนี้เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมให้มีอาชีพที่เหมาะสม กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน บริษัทจะส่งเสริมให้บุคคลกลุ่มนี้ให้มีอาชีพที่เหมาะสมเพื่อสร้างรายได้เช่นกัน ในด้านการสร้างคุณค่าร่วมกันจากการทำงานนั้น ทางบัดดี้โฮมแคร์จะให้คุณค่ากับคนในชุมชนเป็นพิเศษโดยรับฟังความเห็นตลอดจนสนับสนุนการนำทรัพยากรในชุมชนมาใช้ร่วมกัน และถอดบทเรียนในการทำงาน
นอกจากนี้คุณทศวรรษได้ระบุถึงความท้าทายในการทำงานร่วมกับชุมชนว่า เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วยมี 2 กลุ่มคือเยาวชนและผู้สูงอายุ จึงมีความท้าทายที่เกิดจากความแตกต่างด้านอายุ ส่งผลให้มีความแตกต่างกันเรื่องความคิด วิธีการสื่อสาร และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งทางบริษัทแก้ไขปัญหาด้วยการจัดการฝึกอบรมให้แก่เยาวชนในการดูแลผู้สูงอายุ และเสริมทักษะให้กับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีความท้าทายที่เกิดจากการที่ชุมชนไม่มีแผนที่ชัดเจน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันภายในชุมชนหรือระหว่างองค์กรภายในชุมชนเอง ซึ่งรวมถึงชุมชนยังมีแนวคิดว่าธุรกิจเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องมีกำไร
ในด้านความสำเร็จในการทำงานของบริษัทบัดดี้โฮมแคร์กับชุมชนและภาคส่วนอื่น ๆ ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดการฝึกอบรมแก่เยาวชนในการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุไปแล้ว 80 คน รวมถึงการสนับสนุนชุมชนในการทำอุปกรณ์ช้างจับมือมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้และบริจาคให้ผู้สูงอายุบางส่วน
คุณทศวรรษได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการทำงานร่วมกับชุมชนในอนาคตว่า เนื่องจากปัจจุบันเป็นสังคมสูงวัย หลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ต้องการผู้ที่เข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อหรือผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุที่เป็นผู้ยากไร้ ดังนั้นจึงเป็นการทำงานในลักษณะของการบูรณาการการทำงานร่วมกับอาสาสมัครชุมชนในการตรวจสุขภาพ ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในชุมชนให้มีอาชีพและรายได้
คุณคำรณได้อธิบายลักษณะการทำงานของบริษัทของตนในการทำงานร่วมกับชุมชนไว้ว่า ตนเองก่อตั้งบริษัทจากการนำปัญหาที่ตนประสบในการเป็นผู้ป่วยติดเตียงมาสร้างอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนอุปกรณ์เหล่านี้ โดยพัฒนาโรงงานในชุมชนเป็นอุตสาหกรรมและพัฒนาพัฒนาทักษะคนในชุมชนให้ทำงานในรูปแบบของอุตสาหกรรมได้ คุณคำรณยังกล่าวเสริมต่อว่าการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนได้นั้น บริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการและเป็นผู้นำในชุมชน จำเป็นต้องสร้างองค์กรให้มีมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยโรงงานของตนได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (ใบ รง. 4) รวมถึงมีมาตรฐาน ISO 9001, อ.ย. , ISO13405 และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพัฒนาคนที่ทำงานในโรงงานให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจสร้างความยั่งยืนไปถึงห่วงโซ่อุปทานได้ เช่น บริษัทตนได้ใช้ซัพพลายเออร์ที่เคยผลิตชิ้นส่วนให้เครื่องยนต์สันดาปมาผลิตชิ้นส่วนให้ เป็นการสร้างประโยชน์ต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศไทย
คุณคำรณยังกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของความท้าทายในการดำเนินงานว่า เนื่องจากเกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรม จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนในชุมชนเป็นอย่างมากทั้งการยกระดับทักษะเดิม (upskill) และพัฒนาทักษะใหม่ (reskill) ตลอดเวลา โดยบริษัทได้จัดให้มีการฝึกอบรมโดยตรง หรือผ่านทางออนไลน์
ในด้านความสำเร็จของการดำเนินโครงการที่ร่วมกับชุมชนและภาคส่วน อื่น ๆ คุณคำรณได้ระบุว่า ตนได้นำเงินรางวัลมูลค่า 2 ล้านบาทจากโครงการ Win Win War Thailand มาลงทุนสร้างโรงงานและปรับปรุงมาตรฐานต่าง ๆ ของโรงงาน และใช้โซลาร์เซลล์ในการผลิตชิ้นส่วนของวีลแชร์ รวมถึงฝึกอบรมคนในชุมชนและเครือข่ายคนพิการอีก 20 จังหวัด บริษัทเข้าโครงการดีพร้อมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมฝึกอบรมเรื่อง อย. , ISO, แผนการตลาด จากนั้นเข้าโครงการตลาดหลักทรัพย์เพื่อวางแผนให้บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
ต่อคำถามเกี่ยวกับวิธีการทำงานร่วมกันที่เหมาะสมกับธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้พิการ คุณคำรณกล่าวว่า ในอดีตมีปัญหาค่อนข้างมากเนื่องจากภาคเอกชนไม่เข้าใจลักษณะของวิสาหกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันนี้ภาครัฐหรือภาคเอกชนให้การช่วยเหลือที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรจะต้องปรับตัวด้วย โดยการจัดทำแผนและจัดเตรียมทีมงานทำงาน เตรียมความพร้อม รวมถึงนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติกับองค์กรจริง ๆ ลงมือทำจริงต้องร่วมกันทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับ
คุณคำรณได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสที่เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยระบุว่า บริษัทสามารถสร้างงานให้กับสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่มีแนวโน้มทำงานในท้องถิ่นมากขึ้น ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะมอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาที่จบปริญญาตรีเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกและกลับมาทำงานกับบริษัท 5 ปี เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิอยู่ในชุมชน นอกจากนี้มีแผนผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์เนื่องจากจำนวนบุคคลกลุ่มนี้มีถึง 11 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศยิ่งขึ้น
ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, และแอดไลน์ @sxofficial
เตรียมพบกับมุมมองดีๆ และต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืนพบกับงาน SX2025 ที่จะกลับมาจัดยิ่งใหญ่กว่าเดิม ระหว่าง วันที่ 26 ก.ย. - 5 ต.ค. 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ "เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของเราทุกคน"