cover_image_desktop
pin Better Living
ลบคำว่า “พิการ” ออกไป ปลุก “คนไทย” เปิดใจความเท่าเทียม
ดูข่าวสารทั้งหมด

หนึ่งเวทีเสวนาที่เรียกได้ว่าเปิดโลกอีกมุมหนึ่งให้คนทั่วไปได้มองเห็นความสำคัญ และ จำเป็น ของการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขอย่างยั่งยืน..โดยไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นคนปกติ หรือ ใครที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในหัวข้อ สังคมแห่งโอกาสและความเท่าเทียม Reduce Inequalities ที่ไม่ใช่การเรียกร้องขอความเห็นใจแต่ชี้ตรงจุดว่า..โครงการ นวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถเชื่อมร้อยให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขอย่างเท่าเทียม

อาจารย์สุรเชษฐ ไชยอุปละ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม หัวหน้าหน่วยวิจัยการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารองค์กรและกิจการพิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในวิทยากรครั้งนี้ได้ ให้ความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า สำหรับเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันมีหลากหลายมิติ ส่วนตัวในฐานะของบุคลากรด้านการศึกษา จะเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงภาคการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ขอยกตัวอย่างของคณะสถาปัตยกรรมฯ ของทางลาดกระบัง ที่ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยมีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เลยที่จะรองรับน้องๆ คนพิการที่จะเข้ามาเรียนร่วมกันเลย ทั้งทางลาดขึ้นอาคาร หรือแม้แต่ห้องน้ำที่รองรับวีลแชร์ ซึ่งเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นในอดีต ถือเป็นการจุดประกาย ให้เราต้องคิดและลงมือทำทันที และปรับให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเอื้อต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาผู้บกพร่องมากขึ้น

ด้านของคุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ (ซาบะ) อาจารย์ และวิทยากรบรรยายพิเศษ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความเท่าเทียมของผู้บกพร่องทางกายในแง่มุมที่น่าสนใจว่า หากสังเกตให้ดีในสิ่งรอบๆ ตัว โดยเฉพาะ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในประเทศของเรา ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการหรือผู้บกพร่อง ทั้งถนน สะพานลอย เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างเป็นเรื่องใกล้ตัว นอกจากนั้นเราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างดีมากแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องเน้นย้ำคือ คือ การทำตามกฎหมาย ซึ่งหากปฏิบัติตามได้ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็จะเกิดขึ้นในสังคมไทย

ด้านคุณโสภณ ทับกลอง หรือ ท๊อฟฟี่ นักแสดงอิสระ /วิทยากร ได้ให้ความเห็นว่า เรื่องความไม่เท่าเทียม เป็นเรื่องของทัศนคติของคนไม่ว่าจะการคิดเห็นว่าเหลื่อมล้ำหรือว่าความเท่าเทียมต่างๆ มาจากเรื่องขององค์ความรู้ หรือสิ่งที่เราได้รับสารเหล่านั้นมาจากทางใดทางหนึ่งมากกว่า เช่น การยอมรับในความสามารถ หรือการเข้าถึงการศึกษาต่างๆ ชุดความรู้ที่ได้รับของคนแต่ละคน มาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แตกต่างกัน จึงสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันไปด้วย ทั้งนี้การลดความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันนั้นมองว่า ในยุคปัจจุบันการคิดและสร้างสรรค์ให้คนปกติและคนพิการในด้านต่างๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมนั้น สามารถใช้เทคโนโลยี และความอัจฉริยะของ AI มาช่วยออกแบบได้ แต่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก้าวแรก เพราะในอดีตจะเห็นได้ว่า สิ่งปลูกสร้าง อาคาร ถนน ทางเดิน ไม่ได้ถูกคิดเพื่อ support คนพิการตั้งแต่ต้น แต่ในเมื่อวันนี้โอกาสเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ก็ควรคิดตั้งแต่เริ่มต้นก้าวแรก

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอตัวอย่างโครงการที่ทาง อาจารย์ สุรเชษฐ ที่เป็นต้นแบบแรกในการดำเนินการเพื่อสร้างการเข้าถึงในสถานที่และแหล่งความรู้ อาทิ สวนสัตว์และ พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ UNSEEN ZOO ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางกาย เพราะกว่า 2 ล้านคนของผู้พิการทั่วประเทศ ยังมีโอกาสน้อยมากในการเข้าถึงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะความพิการทางสายตา ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนแนวคิดจาก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับลูกเกี่ยวกับนโยบายจากรัฐบาลให้เร่งจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ซึ่งได้เริ่มนำร่องที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการในการเยี่ยมชมสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการทำทางลาด คำอธิบายในรูปแบบอักษรเบรลล์ ภาพนูนต่ำ หรืออุปกรณ์ให้คำอธิบายเสียงตามจุดเยี่ยมชมบางจุด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง การรับรู้และความเข้าใจถึงขนาด รูปร่าง จุดเด่น ของสัตว์ประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะต้องใช้ประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นเป็นหลัก Unseen Zoo Exhibition Kiosk จึงเกิดขึ้นจากการใช้แนวคิดการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Centered Design) , แนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal design) , กระบวนการออกแบบแนวคิด (Design Thinking) โดยออกแบบทางลาดสำหรับรถเข็นผู้พิการ (Wheelchair) ในการเข้าถึง ภายในโครงร่างมีการติดตั้งแท่นแสดงข้อมูล โดยบนแท่นนี้จะแสดงอักษรเบรลล์ในลักษณะภาพนูนต่ำ สัญลักษณ์ผู้พิการทางการมองเห็น สัญลักษณ์ผู้พิการทางการได้ยิน และสัญลักษณ์ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อบ่งบอกว่าห้องนิทรรศการนี้รองรับการใช้งานผู้พิการทั้ง 3 กลุ่ม มีรอยเท้าสัตว์ขนาดเท่าของจริงให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส และมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่เมื่อสแกนจะนำเข้าสู่วีดีทัศน์ข้อมูลสัตว์ และมีล่ามภาษามือแปลข้อความเนื้อหาทั้งหมดตามเสียงบรรยาย อีกด้วย

ในช่วงท้ายของการเสวนา คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ (ซาบะ) ได้ทิ้งท้ายถึงเรื่องของความเท่าเทียม และการลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้พิการว่า เราต้องลบคำว่าพิการออกไป เหลือแต่คนๆ คำว่า “คน” สิ่งที่อยากจะสื่อคือ คนทุกคนสามารถอยู่ได้ในโลกนี้ในโลกใบเดียวกันได้อย่างมีความสุขเท่าๆ กัน อีกสิ่งหนึ่งคือ ผู้พิการเองก็ต้องก้าวเข้าข้ามข้อจำกัดของตัวเองออกมาให้ได้เพราะการที่จะสร้างโลกให้ยั่งยืนได้นั้น ต้องเกิดจากการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน ซึ่งหาเราก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ออกมา แล้วก็ต่อสู้กับมันได้ ไม่ว่าปัญหาจะเป็นยังไงเราก็จะผ่านไปได้อย่างสำเร็จ ด้าน คุณ โสภณ ทับกลอง หรือ ท๊อฟฟี่ ได้ย้ำและให้ข้อคิดก่อนจบเวทีเสวนาว่า ถ้าวันนี้ต้องมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่จะคิดที่จะผลิต หรือมีการบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึง สิ่งที่ต้องคิดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้คืออะไร คำตอบคือ คนทั่วไปมีข้อจำกัดและความต้องการพื้นฐานแบบไหน ผู้พิการหรือผู้บกพร่องก็ต้องการแบบนี้เช่นกัน

idownload
gplay
istore