“สึนามิน้ำจืด” คำที่พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์ใช้เรียกสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงราย และหลายพื้นที่ในปีนี้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาเกิดจาก “โลภาภิวัตน์” หรือความโลภ หากจะบรรเทาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มจากตัวเราเอง โดยหันมายึดหลักธรรมะ กิน อยู่ ใช้อย่างพอเพียง ร่วมกับการบวชป่าและปลูกป่าเพื่อชะลอผลกระทบในระยะยาว
ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์แห่งจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมแบ่งปันแนวคิดการรับมือกับปัญหาโลกเดือดจากมุมมองของพุทธศาสนาบนเวทีใหญ่ ในงาน Sustainability Expo 2024 มหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งผู้นำทางความคิดทุกวงการของไทยและต่างประเทศมารวมตัวกันแบ่งปันมุมมองและแนวคิดน่าสนใจที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทุกคนในการร่วมมือกันปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ท่านยกตัวอย่างอุทกภัยในภาคเหนือ ซึ่งหลายคนบอกว่าร้ายแรงที่สุดที่ชาวเชียงรายเคยประสบมา ท่านอธิบายง่ายๆ ว่าสาเหตุสำคัญประการแรก คือ การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งไม่ทราบว่าใครตัด หรือตัดเมื่อไหร่ แต่เรามาเห็นผลในวันนี้ แม้ว่ามองจากพื้นดิน เราจะเห็นว่าเชียงรายมีป่าไม้เขียวขจี แต่นั่นเป็นเพียงป่ารอบนอก หากขึ้นเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์มองมุมสูงจะเห็นว่าลึกเข้าไปบนภูเขา ผืนป่ากลายเป็นลานโล่ง เขาส่วนใหญ่กลายเป็นเขาหัวโล้น เมื่อพายุมาน้ำฝนจึงไหลหลากลงมาได้โดยไม่มีอะไรขวางกั้น
ประการที่สอง คือ การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพด เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเผาทำลายตอซัง หน้าดินที่ถูกเผาจะแข็งกระด้างไม่ดูดซับน้ำ น้ำฝนจึงไหลแรงและเร็ว เมื่อน้ำฝนเยอะ ดินละเอียดจะเริ่มเละ ละลายปนลงมากับน้ำ น้ำที่ท่วมบ้านเรือนในปีนี้จึงเป็นน้ำจริงๆ เพียง 30% อีก 70% เป็นดิน เมื่อน้ำลดแล้วจึงเหลือทิ้งไว้เพียงโคลนหนาอย่างที่เราเห็น
ท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่า ชาวล้านนาสอนกันต่อมาตั้งแต่โบราณว่า น้ำจะท่วมบ้านท่วมเมืองเพราะ “ขึด” หรือข้อห้ามของชาวล้านนา 3 เรื่อง คือ ราญพนมหรือการตัดไม้ทำลายป่า ถมสมุทรหรือการรุกล้ำทางน้ำ และข้อสุดท้ายคือ การปิดกั้นทางน้ำไหล ซึ่งปัจจุบันการขยายเมืองรองรับคนที่มากขึ้นทำให้ต้องปลูกสร้างบ้านเรือน อาคาร ถนน ขวางเส้นทางน้ำหลากตามธรรมชาติ
“เมื่อเราลืมภูมิปัญญาโบราณ มนุษย์ได้รับบทเรียนเสมอ คนโบราณอยู่กับธรรมชาติมากกว่าเรา เขารู้ว่าอะไรเป็นมิตร อะไรเป็นภัย แต่คนเดี๋ยวนี้ไม่รู้จักธรรมชาติ ขุดดิน ขุดฟ้ามาปรนเปรอตัวเองจนธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองไม่ทัน”
และนั่นทำให้เกิดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะอากาศที่ร้อนขึ้น น้ำแล้ง น้ำท่วม ทะเลสาบที่เคยมีน้ำเต็มตลอดปีก็กลับแห้งขอด หากเราเชื่อมั่นในแนวคิดเรื่องสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิด ปัญหานี้อาจจะลดลงได้ อย่างที่ท่านดาไลลามะเคยตอบนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งว่า ท่านเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และห่วงว่าหากท่านกลับมาเกิดใหม่ในอนาคต โลกนี้จะเป็นอย่างไร เราจะอยู่กันอย่างไรหากโลกเหลือแต่ซาก
“เราต้องสอนเรื่องวัฏสงสารกัน เพราะถ้าเราคิดได้แบบนี้ คิดถึงวันข้างหน้า จะช่วยกู้โลกได้”
นอกจากนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ยังได้เล่าถึงวัตรปฏิบัติของสงฆ์ว่า ในศีล 227 ข้อนั้น หลายข้อกำหนดเรื่องความพอเพียง การบริโภคอย่างพอประมาณ หรือมัตตัญญุตา เช่น พระห้ามทำลายพืชสีเขียว หากถอนหญ้าก็จะอาบัติหรือผิดวินัยสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าธรรมชาติพอเพียงที่จะเลี้ยงผู้คน ดังนั้นเราต้องดูแลธรรมชาติ อย่าเบียดเบียนธรรมชาติ เพราะการทำร้ายธรรมชาติ คือการเนรคุณ
ท่าน ว.วชิรเมธี ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันเราสนใจกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไปและไม่ได้ใส่ใจการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเพียงพอ น้ำท่วมก็ช่วยน้ำท่วม พอน้ำลดก็จบ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน หากจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืนต้องปลูกต้นไม้
การปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและหน้าดิน ต้องเป็นไม้ยืนต้น ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าจะโต ระหว่างนั้น ไม้ใหญ่ที่อยู่ในป่าขณะนี้อาจถูกตัดทำลายเพิ่มเติมได้ ท่าน ว.วชิรเมธี จึงแนะว่าให้ “บวชต้นไม้” คือการนำผ้าจีวรไปพันรอบต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเมื่อบวชต้นไม้แล้วบริเวณนั้นจะกลายเป็นเขตอภัยทานที่ห้ามจับสัตว์หรือตัดต้นไม้ทันที
“อาตมาเคยคิดว่า เราคนเดียวจะสอนธรรมะ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร พอถามพระอาจารย์ของอาตมา ท่านตอบมาว่า ให้ไปนอนกับยุงสิ เพราะเรากลัวยุงกัด ทำให้เราต้องหาทางกันยุงมากมาย ถ้ายุง 1 ตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงให้มนุษย์ได้ มนุษย์ก็ย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
แต่ก่อนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น “เราต้องตื่นรู้ ถ้าไม่ตื่นรู้ เราจะเสียหายมาก” ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวสรุปทิ้งท้าย